logo
กรมธนารักษ์
สำนักงานธนารักษ์พื้นที่กระบี่
THE TREASURY
DEPARTMENT
MENU
  • A
  • A
  • A

เกี่ยวกับจังหวัด

จังหวัดกระบี่

คำขวัญประจำจังหวัด

"กระบี่เมืองน่าอยู่ ผู้คนน่ารัก"

แหล่งถ่านหิน ถิ่นหอยเก่า เขาตระหง่าน ธารสวย รวยเกาะ เพาะปลูกปาล์ม งามหาดทราย 

ใต้ทะเลสวยสด มรกตอันดามัน สวรรค์เกาะพีพี              

  ตราประจำจังหวัด 

 

ประวัติความเป็นมา


          จังหวัดกระบี่ ตั้งขึ้นในปลายรัชกาลที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ในอดีตเป็นเพียงแขวงหนึ่งอยู่ในอำนาจการปกครองและบังคับบัญชาของเมืองนครศรีธรรมราช เรียกว่า "แขวงเมืองปกาสัย" พระยาผู้ครองเมืองนครศรีธรรมราชให้ปลัดมาตั้งค่ายทำพะเนียดจับช้างของท้องที่ตำบลปกาสัยและได้มีราษฎรจากเมืองนครศรีธรรมราชอพยพมาตั้งหลักแหล่งทำมาหากินเพิ่มมากขึ้น พระปลัดได้ยกตำบลปกาสัยขึ้นเป็น "แขวงเมือง ปกาสัย" ขึ้นต่อเมืองนครศรีธรรมราช ประมาณปี พ.ศ.๒๔๑๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกฐานะขึ้นเป็นเมืองปกาสัยและทรงพระราชทานนามว่า "เมืองกระบี่" เมื่อได้ประกาศตั้งขึ้นเป็นเมืองแล้วโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งที่ทำการอยู่ที่ตำบลกระบี่ใหญ่ (บ้านตลาดเก่า)ในท้องที่อำเภอเมืองกระบี่ปัจจุบันมีหลวงเทพเสนาเป็นเจ้าเมืองกระบี่คนแรก ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๑๘ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แยกเมืองกระบี่ออกจากการปกครองของเมืองนครศรีธรรมราชเป็นเมืองจัตวานครนครศรีธรรมราช เป็นเมืองจัตวาขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ และในปี 2443 สมัยพระยารัษฎานุประดิษฐ์ (คอซิมบี้ ณ ระนอง)เป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ต ได้พิจารณาเห็นว่าศาลากลางจังหวัดที่บ้านตลาดเก่านั้นไม่สะดวกต่อการคมนาคม เพราะสมัยนั้นต้องอาศัยเรือเป็นพาหนะ จึงได้ย้ายที่ตั้งเมืองไปอยู่ตำบลปากน้ำ ซึ่งอยู่ใกล้ปากอ่าวเป็นร่องน้ำลึกเรือใหญ่สามารถเข้าเทียบท่าได้สะดวก ทำให้เป็นที่ตั้งศาลากลางจังหวัดจนถึงปัจจุบันนี้

                 ความหมายของคำว่า "กระบี่" มีตำนานเล่าสืบต่อกันมาว่า ชาวบ้านได้ขุดพบมีดดาบโบราณใหญ่เล่มหนึ่ง นำมามอบให้กับเจ้าเมืองกระบี่ และต่อมาไม่นานก็ขุดพบมีดดาบโบราณเล็กอีกเล่มหนึ่ง รูปร่างคล้ายกับมีดดาบโบราณเล่มใหญ่ จึงนำมามอบให้กับเจ้าเมืองกระบี่เช่นกัน เจ้าเมืองกระบี่เห็นว่าเป็นดาบโบราณสมควรเก็บไว้เป็นดาบคู่บ้านคู่เมือง เพื่อเป็นศิริมงคล แต่ขณะนั้นยังสร้างเมืองไม่เสร็จจึงได้นำดาบไปเก็บไว้ในถ้ำเขาขนาบน้ำหน้าเมืองโดยวางไขว้กัน ซี่งลักษณะการวางทำให้เป็นสัญลักษณ์ของตราประจำเมือง คือ ดาบไขว้ทาบอยู่บนภูเขาขนาบน้ำ และบ้านที่ขุดพบดาบใหญ่ได้ตั้งชื่อว่า "บ้านกระบี่ใหญ่"บ้านที่ขุดพบดาบเล็กได้ตั้งชื่อ "บ้านกระบี่น้อย" แต่มีอีกตำนานหนึ่งสันนิษฐานว่าคำว่า "กระบี่"อาจเรียกชื่อตามพันธุ์ไม้ชนิด หนึ่งที่มีมากในท้องถิ่น คือต้น "หลุมพี" เรียกชื่อว่า "บ้านหลุมพี" มีชาวมลายูและชาวจีนที่เข้ามาค้าขายได้เรียกเพี้ยนเป็น "กะ-ลู-บี" หรือ "คอโลบี" ต่อมาได้ปรับเป็นสำเนียงไทยว่า"กระบี่"

สัญลักษณ์ประจำจังหวัดกระบี่

ต้นทุ้งฟ้า

อักษรย่อ : กบ

คำขวัญประจำจังหวัด : กระบี่เมืองน่าอยู่ ผู้คนน่ารัก

ตราประจำจังหวัด : รูปกระบี่ไขว้ เบื้องหลังมีภูเขาและทะเล กระบี่ไขว้ หมายถึง อาวุธโบราณซึ่งมีผู้ค้นพบในท้องที่จังหวัด จำนวน 2 เล่ม ภูเขา หมายถึง เขาพนมเบญจาซึ่งเป็นภูเขาสูงสุดของกระบี่ ซับซ้อนกันถึง 5 ยอด จึงเรียกว่า พนมเบญจา มีเมฆปกคลุมตลอดเวลา และกั้นเขตแดนกับจังหวัดอื่น ส่วนทะเล หมายถึง อาณาเขตอีกด้านหนึ่งของกระบี่ซึ่งติดกับฝั่งทะเลอันดามันหรือมหาสมุทรอินเดีย

ต้นไม้ประจำจังหวัด : ต้นทุ้งฟ้า (Alstonia macrophylla)

ดอกไม้ประจำจังหวัด : ดอกทุ้งฟ้า

สัตว์น้ำประจำจังหวัด : หอยชักตีนหรือหอยสังข์ตีนเดียว (Laevistrombus canarium

ข้อมูลพื้นฐานของจังหวัด

1. สภาพภูมิศาสตร์

           ที่ตั้งและอาณาเขต จังหวัดกระบี่ตั้งอยู่ทางด้านฝั่งทะเลตะวันตกของภาคใต้ติดกับทะเลอันดามัน  อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ไปตามทางหลวงแผ่นดินประมาณ 814 กิโลเมตร  มีพื้นที่ ทั้งหมด 4,708.512 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 2,942,820 ไร่ มีอาณาเขตติดต่อกับจังหวัดใกล้เคียงดังนี้ 

              ทิศเหนือ       จดจังหวัดพังงา และจังหวัดสุราษฎร์ธานี

              ทิศใต้           จดจังหวัดตรัง และทะเลอันดามัน

              ทิศตะวันออก  จดจังหวัดนครศรีธรรมราช และจังหวัดตรัง

              ทิศตะวันตก    จดจังหวัดพังงา และทะเลอันดามัน

ระยะทางระหว่างอำเภอเมืองและอำเภอต่าง ๆ ดังนี้ 

      อำเภอเหนือคลอง ๑๗ กิโลเมตร 

      อำเภอเขาพนม ๓๙ กิโลเมตร 

      อำเภอคลองท่อม ๔๒ กิโลเมตร 

      อำเภออ่าวลึก ๔๓ กิโลเมตร 

      อำเภอปลายพระยา ๖๖ กิโลเมตร 

      อำเภอลำทับ ๖๗ กิโลเมตร 

      อำเภอเกาะลันตา ๑๐๓ กิโลเมตร

2.ลักษณะภูมิประเทศ

          สภาพภูมิประเทศโดยทั่วไปของจังหวัดกระบี่ทางตอนเหนือประกอบด้วย เทือกเขายาวทอดตัวไปในแนนวเหนือใต้สลับกับสภาพพื้นที่แบบลูกคลื่นลอนลาด และลอนชัน มีที่ราบชายฝั่งทะเลทางด้านตะวันตก บริเวณทางตอนใต้มีสภาพภูมิประเทศเป็นภูเขากระจัดกระจายสลับกับพื้นที่แบบลูกคลื่น ส่วนบริเวณทางตอนใต้สุด และตะวันตกเฉียงใต้ มีสถาพพื้นที่เป็นแบบลูกคลื่นลอนลาดจนถึงค่อนข้างราบเรียบ และมีภูเขาสูงๆ ต่ำๆ สลับกันไป บริเวณด้านตะวันตกมีลักษณะเป็นชายฝั่งติดกับทะเลอันดามัน ยาวประมาณ 160กิโลเมตร ประกอบด้วยหมู่เกาะน้อยใหญ่  จำนวน 154 เกาะ แต่เป็นเกาะที่มีประชากรอาศัยอยู่เพียง 13เกาะ เกาะที่สำคัญได้แก่ เกาะลันตา เป็นที่ตั้งของอำเภอเกาะลันตา และเกาะพีพี ซึ่งอยู่ในเขตอำเภอเมือง เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สวยงามติดอันดับของโลก

3.ลักษณะภูมิอากาศ

          จังหวัดกระบี่ มีภูมิอากาศแบบมรสุมในเขตร้อน และได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้และลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือทำให้มีฝนตกชุกตลอดปีและมีเพียง ๒ ฤดู ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงเดือนเมษายน ฤดูฝนเริ่มตังแต่เดือนพฤษภาคมไปจนถึงเดือนธันวาคม จากการที่มีลักษณะภูมิอากาศแบบมรสุมในเขตร้อน อุณหภูมิในแต่ละฤดูกาล จึงไม่แตกต่างกันมากนัก คือ อยู่ระหว่าง ๑๗.๙-๓๙.๑ องศาเซลเซียส

4.ปริมาณน้ำฝน

           จังหวัดกระบี่มีปริมาณน้ำฝนรายปีเฉลี่ย ที่เกาะลันตา ๒,๑๘๔.๔๐ มิลลิเมตรต่อปี ที่ตัวเมืองกระบี่ ๒.๑๗๑ มิลลิเมตรต่อปีโดยมีปริมาณน้ำฝนรายปีเฉลี่ย พื้นที่ลุ่มน้ำเท่ากับ ๒,๗๒๕.๒๙ มิลลิเมตรต่อปี ซึ่งจังหวัดกระบี่มีปริมาณน้ำฝนน้อยกว่าค่าเฉลี่ยทั้งพื้นที่และน้อยที่สุดในกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน

5.ศาสนา

           ประชากรจังหวัดกระบี่ นับถือศาสนาพุทธร้อยละ 58.46 ศาสนาอิสลามร้อยละ 40.51 ศาสนาคริสต์ร้อยละ 0.22 ศาสนาอื่นๆร้อยละ 0.81 มีวัด 107 แป่ง  มัสยิด 186 แห่ง และโบสถ์ 8 แห่ง

6.ประเพณีและวัฒนธรรม

          ลิเกป่า เป็นการแสดงพื้นบ้านที่ดัดแปลงมาจากลิเกสิบสองภาษา เริ่มต้นจะเล่นเรื่องราวของแขกแดงว่ามาจากเมืองลักกะตา (กัตกัลตา) มาค้าขายบนฝั่งทะเลตะวันตก แล้วมาได้ภรรยาเป็นคนพื้นเมืองชื่อ "ยายี" และพากลับบ้านเมือง จากนั้นจะแสดงเรื่องอื่นต่อไป ลิเกป่าเป็นการแสดงที่ประสานวัฒนธรรมหลากหลายเข้าด้วยกัน อาทิ ดนตรีจะใช้รำมะนา ทับ โหม่ง กลอง ฉิ่ง บทกลอนจะมีการประสมทำนองมโนราห์กับเพลงบุรันยาวา ศิลปินลิเกป่าในกระบี่มีจำนวนมาก เพราะนิยมเล่นกันมาช้านาน  และน่าจะเกิดขึ้นครั้งแรกในดินแดนบริเวณนี้ปัจจุบันลิเกป่ายังมีคณะเช่นนายตรึก ปลอดฤทธิ์ ซึ่งได้รับรางวัลผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรม

          หนังตะลุง แสดงให้เห็นการผสมผสานกับวัฒนธรรมอินเดีย ในจังหวัดกระบี่ มีศิลปินหนังตะลุงหลายคณะ

          มโนราห์ การแสดงพื้นบ้านของจังหวัดทางภาคใต้ที่ขึ้นชื่อที่แสดงถึงวัฒนธรรมของชาวภาคใต้ได้เป็นอย่าง

          รองเง็งและเพลงตันหยง ได้รับอิทธิพลจากมลายู ซึ่งดัดแปลงมาจากโปรตุเกสอีกทอดหนึ่งเดิมเพลงรองเง็งนิยมแสดงในบ้านขุนนาง ภายหลังชาวบ้านนำมาเล่นและพัฒนาดัดแปลงมาเป็นเนื้อร้องภาษาไทย เรียกว่าเพลงตันหยง

          ประเพณีลอยเรือชาวเล จัดตรงกับวันเพ็ญเดือน ๖ และวันเพ็ญเดือน ๑๑ ของทุกปีที่เกาะลันตานับเป็นงานประเพณีเก่าแก่ของชาวเลที่หาดูได้ยาก งานนี้จัดตรงกับวันเพ็ญเดือน ๖ และวันเพ็ญเดือน ๑๑ ของทุกปี  โดยกลุ่มชาวเลในบริเวณเกาะลันตาและเกาะใกล้เคียงจะมาชุมนุมกันทำพิธีลอยเรือเพื่อสะเดาะเคราะห์ ณ ชายหาดใกล้ๆกับบ้านศาลาด่าน ในพิธีจะมีการร้องรำทำเพลง มีการร่ายรำรอบลำเรือด้วยจังหวะและทำนองเพลงรองเง็ง

          งานประเพณีสารทเดือนสิบ เดือนสิบเป็นประเพณีสำคัญของชาวใต้เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้บรรพบุรุษผู้ล่วงลับไปแล้ว ขนมที่ขาดไม่ได้คือ ขนมลา ขนมเจาะหู ขนมพอง ขนมบ้า และขนมกงหรือขนมไข่ปลา

          เทศกาลกระบี่เบิกฟ้าอันดามัน จัดตรงกับเดือนพฤศจิกายนของทุกปี เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและประชาสัมพันธ์จังหวัดเป็นงานเปิดฤดูกาลท่องเที่ยวของจังหวัด เริ่มจัดครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๙  มีกิจกรรมรื่นเริงและการแสดงทางวัฒนธรรมมากมาย

          เทศกาลลานตาลันตา จัดขึ้นเพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ และส่งเสริมการท่องเที่ยวเกาะลันตา อนุรักษ์วัฒนธรรมท้องถิ่น ที่มีวัฒนธรรมประเพณีที่หลากหลาย  และมีความผสมผสานระหว่างชาวไทยเชื้อสายจีน ชายไทยมุสลิม ชายไทยพุทธ รวมทั้งชายไทยใหม่ หรือที่เรียกกันว่าชาวเลอุรักลาโว้ย

          เทศกาลถือศีลกินเจ พิธีถือศีลกินเจจะเป็นพิธีที่มีความสำคัญ ดังนี้

                   ๑.เป็นการบำเพ็ญศีล สมาทานกินเจ บริโภคแต่อาหารผักและผลไม้ เป็นการละเว้นการทำบาป ไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต รักษาศีลทำจิตใจให้บริสุทธิ์ งดการเที่ยวเตร่ ไม่ดื่มของมึนเมา ผู้ศรัทธาที่กินเจจะสวมเสื้อผ่าสีขาวและสวดมนต์ทำสนธิภาวนาแผ่เมตตาจิต ขอพรให้ตนเองและครอบครัว

                   ๒.เป็นการสะเดาะเคราะห์ปัดเป่าความชั่วร้าย โรคภัยไข้เจ็บให้ออกไปจากตัวผู้ที่ถือศีล

                   ๓.เกิดความสามัคคีในหมู่ผู้ที่ศรัทธาที่เข้าร่วมพิธีถือศีลกินเจ ต่างก็ยิ้มแย้มเป็นมิตรมีไมตรีต่อกัน มีการบริจาคทรัพย์สำหรับเป็นค่าอาหารและค่าใช้จ่ายในโรงครัว  เพื่อให้มีอาหารเพียงพอ มีอาสาสมัครมาช่วยงานทำงานครัวเป็นจำนวนมาก

                    ระยะเวลาการจัดงาน การถือศีลกินเจตรงกับวันขึ้น ๑ ค่ำ ถึง ๘ ค่ำ เดือน ๙ ของจิน (ตรงกับเดือน ๑๑ ของไทย ช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคมทุกปี) โรงศาลเจ้าทุกโรงจะกำหนดการกินเจพร้อมกัน การประกอบพิธีกรรมจะใช้สถานที่บริเวณโรงศาลเจ้าของแต่ละแห่ง

                   งานเมาลิดกลางจังหวัดกระบี่ งานเมาลิดกลางจังหวัดกระบี่ ถือเป็นงานสำคัญระดับชาติของพี่น้องชาวไทยมุสลิม การจัดงานเมาลิดกลางจังหวัดกระบี่ จัดครั้งแรก เมื่อปี๒๕๒๑ ซึ่งจัดโดยสำนักงานคณะกรรมการจัดงานเมาลิดกลางจังหวัดกระบี่ จนถึงปัจจุบัน ทางราชการกำหนดให้เป็นงานประจำปีของชาวมุสลิมของจังหวัดกระบี่

 

2 กันยายน 2556 | จำนวนเข้าชม 13592 ครั้ง